อาการปวดไหล่
ข้อไหล่ของเรา
ข้อไหล่ของเราประกอบไปด้วยกระดูก 3 ชิ้น คือ กระดูกต้นแขน กระดูกสะบัก และกระดูกไหปลาร้า มาประกอบกันเป็นข้อ ข้อไหล่เป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวได้มากที่สุดในร่างกาย และเป็นข้อที่ถูกใช้งานมาก จึงทำให้มีปัญหาได้
อาการปวดไหล่เกิดจากอะไรได้บ้าง ?
อาการปวดไหล่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เป็นได้ตั้งแต่เด็กจนโต สาเหตุของการปวดไหล่ที่พบบ่อยมีดังนี้
1. ในวันเด็กและวัยรุ่น อาการปวดไหล่มักจะมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
2. ในวัยหนุ่มสาว อาการปวดไหล่มักมีความสัมพันธ์กับการใช้ข้อไหล่ทำงานอย่างมาก ทำให้มีการเสียดสีและอักเสบของเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณรอบ ๆ ข้อไหล่
3. ในวัยกลางคนและวัยสูงอายุ อาการปวดไหล่มักมีสาเหตุมาจากการเสื่อม อันเป็นผลมาจากการใช้ข้อไหล่ทำงานมาก
4. ข้อไหล่อักเสบ เป็นผลมาจากโรคข้ออักเสบที่มีข้อไหล่อักเสบร่วมด้วยได้ เช่น โรครูมาตอยด์ เป็นต้น
5. อาการปวดไหล่ที่เป็นผลมาจากการปวดร้าวหรือมีการอักเสบบริเวณอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง เช่น กระดูกคออักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ โรคของหัวใจ โรคตับ เป็นต้น
6. อาการปวดอันเป็นผลมาจากการกระจายของมะเร็งมาที่กระดูกต้นแขน
วงจรของข้อไหล่ติดเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ข้อไหล่เป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวได้มากที่สุดก็จริง แต่มีจุดอ่อนคือ เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นและข้อไหล่ไม่ได้เคลื่อนไหวแล้ว จะมีใยพังผืดมาจับบริเวณข้อไหล่ ทำให้ข้อไหล่ติดและเคลื่อนไหวได้ลำบาก เมื่อมีอาการปวดและไม่ยอมเคลื่อนไหวข้อไหล่ ก็จะมีพังผืดมาเกาะมาก ๆเข้า เป็นผลให้ข้อไหล่ติดแข็งและเคลื่อนไหวไม่ได้
สัญญาณอันตรายของอาการปวดไหล่มีอะไรบ้าง ?
เมื่อมีอาการปวดไหล่ร่วมกับอาการต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์
1. มีข้อไหล่บวม
2. มีอาการปวดมานานกว่า 2 สัปดาห์
3. มีอาการปวดร่วมกับการเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ไม่เต็มที่
4. มีอาการชาของแขน หรือมีอาการเย็น หรือเปลี่ยนสีของผิวหนังบริเวณแขนร่วมด้วย
5. มีอาการอื่น เช่น ไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย เป็นต้น
แพทย์จะรักษาอาการปวดไหล่อย่างไรบ้าง ?
แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายก่อน ในรายที่จำเป็นอาจต้องการการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัย การรักษาอาการปวดไหล่
1. ในรายที่มีอาการปวดมากควรหยุดการพักการใช้ข้อไหล่ แต่ไม่ควรจะหยุดนานเนื่องจากจะทำให้ข้อไหล่ติด
2. ควรใช้ความร้อนประคบ อาจเป็นกระเป๋าน้ำร้อนก็ได้ เพื่อช่วยลดความเจ็บปวด การใช้ความร้อนประคบควรหลีกเลี่ยงในรายที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อบริเวณข้อ
3. การใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
4. การบริหารไหล่ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดเพื่อป้องกันไหล่ติด (ศึกษาวิธีการบริหารไหล่ได้จากเอกสารการบริหารร่างกาย)