Copyright 2024 - Custom text here


อาการปวดหลัง

หลังของเรา
หลังเป็นส่วนสำคัญของร่างกายที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักตัวส่วนบน กระดูกสันหลังประกอบไปด้วยกระดูก 24 ชิ้น แต่ที่เป็นส่วนสำคัญของอาการปวดหลังที่พบบ่อยคือกระดูกสันหลังส่วนล่าง 5 ชิ้น ซึ่งต่อกับกระดูกกระเบนเหน็บ กระดูกสันหลังส่วนล่างนี้เชื่อมกันด้วยข้อต่อ และมีช่องระหว่างข้อให้ปลายประสาทผ่านออกมาเลี้ยงกล้ามเนื้อของเรา

อาการปวดหลังอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1. อาการปวดแบบเฉียบพลัน ซึ่งเป็นมาภายในไม่กี่วัน ถึง 1-2 สัปดาห์ โดยมากมักจะเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ
2. อาการปวดเรื้อรังซึ่งมักเป็นนานกว่า 3 เดือน และมีสาเหตุมากมาย

สาเหตุของอาการปวดหลังที่พบบ่อย
1. อริยาบทหรือท่าทางที่ไม่ถูกต้องหรือกลังเคล็ด เป็นภาวะที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้บ่อย เช่น นั่งทำงานในท่าก้มหลังเป็นเวลานาน การก้มตัวยกของหนัก หลังถูกกระแทก เป็นต้น
2. ภาวะเสื่อมของกระดูกสันหลัง พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ กระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลังมีการเสื่อม ทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง ในบางรายอาจมีกระดูกงอกไปกดปลายประสาททำให้เกิดอาการชาหรืออ่อนแรงของขาได้
3. หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน มักเกิดอาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน เกิดจากการที่ยกของหนักหรือล้มก้นกระแทกพื้น เกิดแรงดันทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังไปกดเส้นประสาทที่ออกมาจากไขสันหลัง เกิดอาการปวดร้าวไปด้านหลังของขา ร่วมกับอาการชาและอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขา ภาวะนี้จำเป็นต้องการการผ่าตัดแก้ไข
4. ภาวะเครียด อาจส่งผลให้มีการเกร็งของกล้ามเนื้อหลังตลอดเวลา ทำให้ปวดหลังได้
5. กระดูกสันหลังอักเสบ เป็นภาวะที่มีการอักเสบของกระดูกสันหลัง พบได้บ่อยในเพศชายวัยกลางคน มีอาการปวดหลังเรื้อรัง อาจมีข้ออักเสบอื่น ๆ ร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการหลังแข็ง ถ้าได้รับการวินิจฉัยไม่ถูกต้อง กระดูกสันหลังอาจยึดติดกันไปหมด ก่อให้เกิดความพิการตามมาได้
6. สาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ โรคของอวัยวะบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการปวดร้าวมาบริเวณหลังได้ ได้แก่ โรคไต โรคเกี่ยวกับรังไข่และมดลูก หรือโรคที่เกี่ยวกับต่อมลูกหมาก หรือการกระจายของมะเร็งมาที่บริเวณกระดูกสันหลัง เป็นต้น

สัญญาณอันตรายของอาการปวดหลังมีอะไรบ้าง ?
เมื่อมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์
1. อาการปวดหลังเป็นติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์
2. มีอาการชาหรืออ่อนแรงของ ขา
3. มีอาการปวดร้าวจากหลังลงไปที่ขาหรือเท้า
4. มีอาการปวดหลังภายหลังได้รับอุบัติเหตุ
5. มีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น ไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น

การวินิจฉัย
แพทย์จะอาศัยการซักประวัติและการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ ในบางครั้งแพทย์อาจจำเป็นต้องทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การถ่ายภาพรังสี และการตรวจเลือดเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและการรักษา

การรักษา
1. ควรระวังและหลีกเลี่ยงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการยกของหนัก การที่ต้องทำงานก้ม ๆ เงย ๆ เป็นต้น
2. ปรับปรุงอริยาบทต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดการปวดหลัง เช่น ที่นอนควรเป็นที่นอนราบเรียบและแข็ง เก้าอี้นั่งควรเป็นเก้าอี้ที่มีพนักพิงหลังและนั่งตัวตรง เวลาขับรถควรปรับพนักเก้าอี้ให้อยู่ในท่าตรง เวลาก้มหยิบของควรใช้วิธีย่อเข่าลงเก็บของ เป็นต้น
3. อาจใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล หรือแอสไพริน รับประทานแก้ปวดได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ในกรณีที่รับประทานยามาแล้ว 5-7 วัน และอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ ในรายที่เป็นเรื้อรัง หรือมีอาการปวดอย่างมาก การทำกายภาพบำบัดจะช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ การใช้กายอุปกรณ์ก็สามารถช่วยลดอาการเจ็บปวดได้เช่นกัน
4. การบริหารกล้ามเนื้อหลัง เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง เพราะจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อหลัง และลดการเกร็งของกล้ามเนื้อหลัง การบริหารควรทำทุกวัน
5. หาทางออกกำลังกายเป็นการผ่อนคลายความเครียด


 

f t g m
2019161
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
1926
6402
22947
33879
92590
1779682
2019161

Your IP: 172.70.130.99
2024-11-21 13:49